Monday, 25 November 2013

บทสัมภาษณ์พิเศษ "จักรภพ เพ็ญแข"

บทสัมภาษณ์พิเศษ: นายจักรภพ เพ็ญแข ผู้ลี้ภัยทางการเมือง

คงไม่ต้องแนะนำกันมากสำหรับ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีในฝ่าย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังจากถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ และร่วมกระแสประท้วงในห้วงแรกของมวลชนเสื้อแดง จักรภพฯ ได้ลี้ภัยไปยังกัมพูชาและพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน  



อย่างไรก็ตาม ถึงอยู่ระหว่างการลี้ภัย จักรภพฯ ก็ยังเป็นหัวคิด และเป็นสุ้มเสียงที่โดดเด่นและน่าสนใจในฝ่ายเสื้อแดงและขบวนประชาธิปไตยของไทยอยู่เสมอ 

ผมเริ่มถามจักรภพฯ ว่า มาลงเอยในกัมพูชาได้อย่างไร และขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง

“จริงๆ แล้วผมไม่ได้ยึดเอากัมพูชาเป็นบ้านที่ถาวร เพราะเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ บ้านที่ผมพำนักอยู่ในช่วงนี้ เพียงแต่ว่าผมมีโอกาสไปกัมพูชาบ่อยหน่อยเท่านั้นเอง เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผมตัดสินใจออกจากประเทศไปนั้น ผมต้องเดินทางผ่านหลายประเทศและมาพำนักอยู่ในกัมพูชาช่วงหนึ่ง พี่น้องกัมพูชาเข้าใจในเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของเราดี ประสบการณ์ของชาวกัมพูชาที่ได้ผ่านสงครามหลากหลายรูปแบบก็ช่วยเราได้มาก อย่างไรก็ดี ผมเดินทางอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เคยไปไกลจากเมืองไทยนัก”

กัมพูชาคิดอย่างไรกับคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศเรื่องพระวิหาร ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศจะประทุขึ้นได้อีกไหม

“ผู้นำกัมพูชาดูเหมือนจะสรุปว่า ความขัดแย้งเรื่องนี้เป็นผลจากทัศนะชนชั้นปกครองของไทยต่อเพื่อนบ้าน มากกว่าจะเป็นกรณีพิพาทชายแดนอย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชากล่าวเสมอว่าประชาชนไทยและประชาชนกัมพูชาไม่เคยมีความขัดแย้งกัน เหตุที่แท้จริงก็มาจากทัศนะของชนชั้นนำไทยที่มองว่าไทยควรวางตัวห่างจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสี่ประเทศ ซึ่งเป็นทัศนะที่เร่อร่าล้าสมัย ชาวกัมพูชาโดยทั่วไปไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้เลย เว้นแต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น คนกัมพูชาคิดเรื่องเวียดนามมากกว่า (เรื่องไทย) เยอะ”

คุณมองสถานการณ์ล่าสุดในเมืองไทยอย่างไร

“อะไรที่มันยังไม่ลงตัว สุดท้ายก็วุ่นวายสับสนทั้งนั้น ผมเสียใจที่ประเทศของผมซึ่งครั้งหนึ่งมีความสงบสันติเป็นที่สุดต้องระเบิดขึ้นเป็นความโกลาหล แต่สิ่งที่เมืองไทยควรต้องเปลี่ยนแปลงมันถูกเก็บงำและซ่อนเร้นเอาไว้นานเกินไป ภายใต้ลัทธิ “ยิ้มสยาม” ปรากฎการณ์ทักษิณคือสิ่งที่ปลดปล่อยประเทศไทยทั้งประเทศจากการถ่วงรั้งนั้น อย่าแปลกใจเลยว่าสังคมไทยต้องก้าวเข้าสู่ภาวะเช่นนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่ผมเห็นว่าควรเกิดมานานแล้วด้วยซ้ำไป คนไทยจะมานั่งทำท่าน่ารักอยู่ได้อย่างไรในขณะที่ทั้งประเทศต้องหยุดตั้งสติใหม่ว่าเราคือใครและมีจิตวิญญาณอย่างไร” 

นิรโทษกรรมสุดซอยถือเป็นความผิดพลาดหรือไม่

“คนที่คิดทำเรื่องนี้มีเจตนาที่ดี คืออยากให้ประเทศเกิดเส้นแบ่งที่สามารถเริ่มต้นใหม่กันได้ แต่วิธีผลักดันอย่างทื่อๆ ทำให้ความหวังดีกลายเป็นความวินาศสันตะโร แนวคิดนิรโทษกรรมโดดๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จังหวะเวลาที่ทำ มันแย่เสียเหลือเกิน”  

เหยื่อสังหารแห่งปี พ.ศ.๒๕๕๓ จะมีโอกาสได้รับความยุติธรรมหรือไม่

“ได้สิครับ แต่จะได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้าหรือถูกผลักให้เดินหน้าต่อไป ในสถานการณ์เผด็จการซ่อนรูปของไทยอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะได้ความยุติธรรมทั้งในวันนี้และวันหน้า พลังมืดดำในสังคมไทยเขาซ่อนตัวเก่ง อยู่ในรูปของคนดีมีเมตตา จนเราแทบมองไม่เห็น แต่พลังเช่นนี้นี่แหละ ที่คอยขัดขวางไม่ให้พลเมืองไทยได้ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิและเสรีภาพแม้แต่น้อยนิด โดยเฉพาะกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสังหารอย่างโหดเหี้ยมของเขาหรือคนของเขา”

จะมีโอกาสปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่

“เราต้องเชื่อมโยงวิกฤติการเมืองไทยเข้ากับเครือข่ายของสถาบันระดับสูง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ถ้าความเชื่อมโยงนั้นปรากฎชัด ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจะเห็นเองว่า ทำไมเราต้องมีกฎหมายอย่างนี้ และยืนหยัดยืนยงได้ถึงขนาดนี้ เมื่อรู้แล้วสังคมจะปรับตัวอย่างขนานใหญ่”

ขบวนการเสื้อแดงยังมีอนาคตหรือไม่ หากผูกติดอยู่กับทักษิณ

“คุณทักษิณเป็นและยังจะเป็นแนวร่วมที่สำคัญของขบวนการประชาธิปไตยทั้งมวล ผมเชื่อว่าท่าน (อดีตนายกรัฐมนตรี) จะได้่รับประโยชน์มาก หากท่านยังคงผูกพันอย่างมีสาระสำคัญกับขบวนการนี้ต่อไป”

กระบวนการสมานฉันท์อย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างไร

“ขณะนี้ยิ่งตอบยาก ความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นทั้งสองฝั่งในกรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นสิ่งที่เตือนเราว่าความขัดแย้งในสังคมไทยยังคงเข้มข้นรุนแรงเหลือเกิน เราคงต้องยอมให้ความขัดแย้งเคลื่อนตัวไปตามธรรมชาติสักพักหนึ่งเสียก่อน ทิศทางใหม่จึงอาจจะปรากฎขึ้น ถึงตอนนั้น ความคิดเรื่องความยุติธรรมและการสมานฉันท์จึงจะมีความเป็นไปได้”

ทักษิณควรวางมือจากการเมือง หรือเขายังมีบทบาทอยู่

“คุณทักษิณเป็นและยังคงเป็นตัวละครที่สำคัญในห้วงแห่งการปรับเปลี่ยนเมืองไทย แต่ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองว่า จะนำบทบาทนั้นมาใช้ให้มากขึ้นหรือน้อยลง โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ความอดทนและทักษะอันเป็นเลิศในการจัดการของท่าน ยังคงเป็นคุณอันเอนกอนันต์ในสถานการณ์ปัจจุบัน”

เห็นโอกาสที่ตัวคุณเองจะได้กลับบ้านในเร็ววันนี้ไหม

“ยังไม่ค่อยเห็นหรอกครับ ผมน่าจะทำงานที่มีประโยชน์นอกพื้นที่อำนาจของผู้ปกครองไทยไปก่อน แต่ความคิดเรื่องกลับบ้านอยู่ในใจผมตลอดเวลา”

บทบาทของตัวคุณเองจะไปในทิศทางไหน

“คงจะในทางต่างประเทศและด้านวิชาการละมังครับ ประชาคมระหว่างประเทศยังคงไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาการเมืองในเมืองไทย ซึ่งเป็นความผิดของฝ่ายเราเอง ผมคิดว่าผมสามารถทำหน้าที่อธิบายความและปลุกเร้าความสนใจของคนในระดับโลกได้บ้าง ในฐานะอดีตอาจารย์ ผมสามารถที่จะเขียน พูด และสร้างงานทางวิชาการที่จะส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยไทยจากทางไกลได้ ยังมีอีกหลายเรื่องครับที่เราสามารถทำให้ดีกว่าเดิมได้มาก”.  

No comments:

Post a Comment

Abusive comments won't be published.

Note: only a member of this blog may post a comment.